Oct-2016
ไขข้อข้องใจ คนท้อง ทารก ขึ้นเครื่องบิน ต้องทำอย่างไร
ไขข้อข้องใจ คนท้อง ทารก ขึ้นเครื่องบิน ต้องทำอย่างไร
คนท้อง ทารก กับการเดินทางด้วยเครื่องบิน เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยสนใจมาก่อนเลยจนภรรยาผมท้อง และวันนี้มีลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว จึงได้เริ่มหาข้อมูลว่าหากจะพา ทารก ขึ้นเครื่องบินนั้น มีข้อกำหนดอย่างไรและต้องทำอย่างไร รวมไปถึงเมื่อไปถึงจุดหมายและต้องการเช่ารถเที่ยวควรคำนึงถึงอะไรเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของทารกบ้าง
ทั้งช่วงที่ภรรยาผมท้องและทริปแรกที่ผมพาลูกขึ้นเครื่องบินผมได้มีโอกาสใช้บริการของ Airasia พอดีทั้ง 2 ครั้ง ดังนั้นข้อมูลในบทความนี้ผมจึงจะขออิงข้อกำหนดของแอร์เอเชียเป็นหลักนะครับ ทั้งนี้สำหรับสายการบินอื่นๆข้อกำหนดค่าธรรมเนียมต่างๆจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยครับ
คนท้องขึ้นเครื่องได้ถึงเมื่อไหร่ ??
เรื่องนี้เป็นคำถามที่ผมสงสัยมากเมื่อต้นปี ช่วงที่ภรรยาผมท้องแก่ แต่ยังต้องมีเดินทางอยู่ ผมก็เอ๊ะ… นางจะยังขึ้นเครื่องได้มั๊ยนะ ผมเลยไปหาข้อมูลมาได้ข้อสรุปมาดังนี้
- ผู้โดยสารที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 27 สัปดาห์ สามารถเดินทางได้โดยต้องกรอกแบบฟอร์มสละสิทธิ์การเรียกร้อง ณ เคาน์เตอร์เช็คอิน
- ผู้โดยสารที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 28 ถึง 34 สัปดาห์ ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันอายุครรภ์ประกอบการเช็คอิน ใบรับรองแพทย์ต้องมีอายุไม่เกิน 30 วัน ณ วันเดินทาง ทั้งนี้ ผู้โดยสารต้องกรอกแบบฟอร์มสละสิทธิ์การเรียกร้อง ณ เคาน์เตอร์เช็คอิน
- สายการบินฯ ไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารที่มี อายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ขึ้นไป เดินทาง
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลของสายการบิน Air Asia ที่ผมบินในตอนนั้น ซึ่งสายการบินอื่นๆอาจจะมีตัวเลขจำนวนสัปดาห์ที่บวกลบกันประมาณ 1-2 สัปดาห์
ที่มาข้อมูล: ผู้โดยสารพิเศษ Airasia
ตอนนั้นที่ภรรยาผมเดินทางอายุครรภ์ประมาณ 27 สัปดาห์ นั่งเครื่องจาก ดอนเมือง ไปยัง ภูเก็ต จึงต้องกรอกแบบฟอร์มสละสิทธิ์การเรียกร้องครับ ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ครับ แต่ตอนเดินทางก็ท้องใหญ่จนสังเกตุได้แล้วว่าท้องแน่ๆ
ทารกขึ้นเครื่องบินได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ??
ในทางการแพทย์เท่าที่ได้คุยกับหมอมา หมอพูดว่าสามารถขึ้นเครื่องได้ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลเลย แต่ในทางปฏิบัติ ก็แล้วแต่คุณพ่อคุณแม่แต่ละท่าน เพราะว่าเครื่องบินก็ถือเป็นแหล่งชุมชนที่อากาศปิด ทำให้ทารกซึ่งยังมีภูมิต้านทานต่ำ มีสิทธิ์ได้รับเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไปคุณหมอมักไม่อยากให้พาทารกไปในที่สาธารณะในช่วงก่อน 3 เดือนแรก เพราะโอกาสติดเชื้อสูง
ในแง่ของสายการบิน กฏของสายการบินจะแตกต่างกันไป อย่าง Airasia จะกำหนดไว้ที่ ทารก 9 วันขึ้นไปจึงจะสามารถขึ้นเครื่องได้
ทารก ขึ้นเครื่องบิน ใช้เอกสารอะไรบ้าง มีค่าธรรมเนียมอะไรหรือไม่อย่างไร
การขึ้นเครื่องของทารกนั้น จะต้องใช้ สูติบัตร หรือ Passport ในการยืนยันตัว และจะต้องเดินทางพร้อมผู้ปกครองเท่านั้น ซึ่งทารกเองก็จะได้บัตรโดยสารมาด้วยเช่นกัน แต่จะเป็นบัตรโดยสายเบอร์เดียวกับผู้ปกครองครับ (เพราะต้องนั่งตักผู้ปกครองไปครับ)
สำหรับสัมภาระนั้นจะมีข้อแตกต่างจากผู้โดยสารทั่วไปดังนี้
- สามารถนำรถเข็นเด็กเข็นเข้าไปได้จนถึงทางขึ้นเครื่อง แต่จะต้องส่งโหลดที่หน้าเกท ซึ่งตอนเช็คอินนั้น เจ้าหน้าที่จะติด Bag Tag มาให้เลย ซึ่งอันนี้ผมว่าดีงามเพราะช่วงเรา Boarding ถือว่านานสำหรับเด็กผมสามารถกล่อมลูกให้หลับแล้วเอาไปนอนในรถเข็นได้สบายเลย
- สามารถนำนมทารกขึ้นเครื่องได้ตามสมควรต่อระยะเวลาในการบิน เช่นบิน 1-3 ชม. ก็สามารถนำนมขึ้นไปได้ประมาณ 1 ขวดไม่เกิน 10 Oz. เป็นต้น
- สามารถนำ ice pack ขึ้นเครื่องได้ตามสมควรในการแช่นมที่นำติดไปด้วย แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ไว้
- สามารถนำเครื่องปั๊มนมพร้อมอุปกรณ์ขึ้นเครื่องได้ (โดยให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่เช็คอิน) เพราะทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งไปยังส่วนต่างๆให้
ส่วนค่าธรรมเนียมนั้นก็แล้วแต่สายการบิน และเส้นทางบิน สำหรับสายการบิน Airasia ที่ผมพึ่งเดินทางมานั้น สามารถเช็คค่าธรรมเนียมการนำทารกขึ้นเครื่องได้จากหน้า Fee and Charges
เทคนิคการพา ทารก ขึ้นเครื่อง
ด้านความปลอดภัยในการพาทารกขึ้นเครื่องนั้น บริเวณที่ทารกนั่งหากเกิดแรงดันภายในเครื่องผิดปกติ จะมีหน้ากากหล่นลงมาเพิ่มอีก 1 อันสำหรับทารกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราจะต้องสวมหน้ากากตัวเราเองก่อนแล้วจึงไปสวมให้ทารก ส่วน Seat belt เนื่องจากทารกต้องนั่งตักผู้ใหญ่ โดยทั่วไปแอร์โฮสเตสจะมี Safety Belt พิเศษสำหรับทารกมาเพิ่มให้ โดยให้เอา Safety Belt พิเศษคล้องกับ Safety Belt ของผู้ใหญ่ก่อนแล้วก็เอาไปล็อคตัวทารกอีกครั้งหนึ่ง
ทารกขึ้นเครื่องมักจะงอแง ระหว่างเครื่องไต่ระดับขึ้น หรือกำลังลดระดับลง เนื่องจากความดันในบรรยากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ทารกปวดหู ด้วยความที่ทารกยังบอกเราไม่ได้ จึงมักจะร้องไห้ออกมา แต่เรื่องนี้ก็แก้ไขไม่ยาก เพียงให้ทารกดูดนม จะดูดเต้า หรือดูดนมจากขวดก็ได้ไม่มีปัญหา เพราะการดูดนมของทารกก็เสมือนผู้ใหญ่เคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อปรับแรงดันในหูนั่นเอง
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้เวลาที่เครื่องขึ้นลงแล้วเสียงดังทำให้เด็กไม่คุ้นและกลัวได้ คือให้เราพยายามจับมือ มองลูกและคุยกับลูกเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเสียงเครื่องยนต์ ก็เป็นอีกวิธีง่ายๆ ที่ทำให้เด็กไม่งอแงระหว่างเครื่องขึ้นลงนั่นเอง
Baby Seat สิ่งสำคัญสำหรับการพาทารกเที่ยวแบบ Road Trip
สำหรับทริปที่พาลูกไปเที่ยวนั้น แน่นอนสัมภาระจะเยอะมากๆ ผมจึงเลือกที่จะใช้รถเช่า สิ่งหนึ่งที่ผมคำนึงเป็นพิเศษก็คือ จะต้องมี Car seat หรือ Baby seat ให้ลูก แม้ว่าในไทยการใช้คาร์ซีทสำหรับทารกยังไม่ได้เป็นกฏหมายก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัยของลูกแล้ว ผมจึงใส่ใจกับเรื่องนี้มากๆ
ซึ่งทริปที่ผมเดินทางมาภูเก็ตนั้นผมเลือกใช้บริการของ AVIS Thailand ส่วนหนึ่งก็เพราะ AVIS มีคาร์ซีทให้ลูกผมใช้นั่นเอง สนนราคาของคาร์ซีทนั้น AVIS คิดอยู่ที่ 214 บาทต่อวัน ซึ่งเพื่อความปลอดภัยของลูกผมแล้วผมยอมจ่ายแน่นอน
คาร์ซีทที่ AVIS มีโดยทั่วไปแล้วจะเป็นคาร์ซีทแบบนั่งซึ่งเหมาะสำหรับทารกอายุประมาณ 4 เดือนขึ้นไปที่คอแข็งแล้ว แต่สำหรับทารกที่ยังคอไม่แข็งดีต้องใช้คาร์ซีทแบบนอน ต้องสอบถามกับ Call Center ก่อนนะครับ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องง่ายๆในการพาทารกเดินทางไปท่องเที่ยวครับ เพียงแค่เราใส่ใจความปลอดภัยของลูกเราเพียงเท่านั้น เราก็สามารถเดินทางพาลูกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆได้อย่างมีความสุขแล้ว